เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 อาจารย์ ดร.พรวิชัย เต็มบุตร รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และกิจการนิสิต เข้าร่วมกิจกรรม “การอนุรักษ์พันธุกรรมดอกดาหลา ส้มจุก และมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ เพื่อยกระดับเป็นพืช เศรษฐกิจ และศูนย์เรียนรู้การผลิตมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ ภายใต้ระบบ BCG จังหวัดพัทลุง” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน
เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานรักษาและต่อยอดการพัฒนามะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ด้วยเทคโนโลยี DNA และการพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกดาหลา และส้มจุกให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดพัทลุง รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้สำหรับอนุรักษ์พันธุ์พืชของจังหวัดพัทลุง ผ่านศูนย์การเรียนรู้ต่อไป
โดยกิจกรรมในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ | อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ, รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง | รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี | คณบดีคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน โดยร่วมพูดคุยและกล่าวถึงที่มาที่ไปในการจัดโครงการนี้ขึ้นมา ให้แก่ผู้เข้าโครงการจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น เกษตรกรชาวสวนมะพร้าว อาจารย์ นักวิจัย นิสิต ผู้แทนองค์กรภาครัฐและเอกชน วิทยากร และทีมผู้จัดกิจกรรม
และในกิจกรรมต่อมาที่เรียกได้ว่า เรียกความสนใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี ก็คือ การบรรยายทางวิชการ “การปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี DNA” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวเรศ อารีกิจ | ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งได้บรรยายตั้งแต่ ความเป็นมา, ลักษณะสายพันธุ์มะพร้าว, ความต้องการมะพร้าวของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน และรวมไปถึงยกตัวอย่าง Case study ก่อนจะให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถามข้อสงสัย
ในส่วนกิจกรรมส่งท้าย เป็นกิจกรรมลงแปลงปลูกดอกดาหลา ส้มจุก และมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ ที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ณ แปลงสาธิตการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อาคารคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง